โสม ราชาแห่งสมุนไพร
โสม (Ginseng) เป็นพืชสมุนไพรโบราณที่มีราคาแพงที่สุดรู้จักกันเป็นอย่างดีในประเทศจีนและเกาหลีว่าเป็น "ราชาแห่งสมุนไพร" ชาวจีนโบราณเชื่อกันว่า เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มพลังทางเพศ ช่วยทำให้มีชีวิตยืนยาว โสมเป็นสมุนไพรที่ใช้กันในแถบเอเชียมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว ในตำรับเภสัชของจีนได้กล่าวถึงสรรพคุณของรากโสมว่าช่วยทำให้อวัยวะภายในเป็นปกติ สงบ ไม่มีอารมณ์หวั่นไหว ฟุ้งซ่าน ทำให้สุขภาพดี ทำให้ตาแจ่มใส จิตใจแช่มชื่น เพิ่มความฉลาด ซึ่งจากการที่โสมมีคุณสมบัติมากมายจึงมีผู้กล่าวว่าโสมเป็น "Adaptogen" (สารที่ช่วยปรับตัวให้ร่างกายมีประสิทธิภาพตามต้องการ) ในประเทศไทยมีผู้นิยมรับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง นับเป็นสมุนไพรที่มีราคาแพง
โสมที่มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีและนำมาใช้กันมากที่สุดมี 2 ชนิด คือ โสมเอเชีย ซึ่งนิยมเรียกว่าโสมจีนหรือโสมเกาหลี และอีกชนิดคือโสมอเมริกัน มีความเชื่อกันว่าการเกิดโรคต่างๆ มีสาเหตุจากความไม่สมดุลของหยินยางในร่างกาย ซึ่งการใช้โสมสามารถปรับสมดุลร่างกายได้ ในประเทศจีนมีการใช้โสมเป็นยาบำรุงร่างกายทั้ง 2ชนิด สำหรับโสมอเมริกันมีสมบัติเป็นหยินหรือยาเย็น และโสมจีนมีสมบัติเป็นหยางหรือยาร้อน ปกติโสมเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้า มีความสูงของต้นเพียง 60-80เซนติเมตรเท่านั้น และต้องรอนานถึง 6 ปี จึงจะได้รากโสมที่มีสารสำคัญทางยาในปริมาณสูงสุด

โสมเกาหลี หรือโสมคน (Korean ginseng)
เนื่องจากรูปร่างของราก ที่มีลักษณะคล้ายคน มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Panax ginsengC.A.Meyer จัดอยู่ในวงศ์ Araliaceae คำว่า "panax" มาจาก "panacea"แปลว่า "รักษาได้สารพัดโรค" โสมชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แล้วมีการนำไปศึกษาทดลองปลูกในเกาหลีและญี่ปุ่น จนประสบความสำเร็จในเชิงการค้า ถ้าปลูกและส่งออกจากประเทศจีนมักเรียกว่า "โสมจีน (Chinese ginseng)" ส่วนที่ปลูกและส่งออกจากประเทศเกาหลีมักเรียกว่า "โสมเกาหลี (Korean ginseng)" โสมที่ขายในตลาดทั่วไปรวมทั้งประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือโสมขาว และโสมแดง
- โสมแดง (Red ginseng) คือโสมที่ผ่านไอน้ำอุณหภูมิประมาณ 100องศาเซลเซียส เพื่อทำลายเอนไซม์ และฆ่าเชื้อรา ความร้อนทำให้ได้สารที่มีลักษณะคล้ายคาราเมลที่ผิวชั้นนอก (epidermis) ของราก ทำให้ได้รากโสมที่มีสีแดงอมน้ำตาล และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดีกว่าโสมขาวและราคาแพงกว่า
- โสมขาว (White ginseng) ได้จากการนำรากโสมมาล้างน้ำให้สะอาดและตากแดดให้แห้ง จะมีสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเข้ม
จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีพบว่าโสมมีน้ำตาลชนิดต่างๆ อยู่มากมายเช่นกลูโคส ซูโครส อะราบิ-โนสและแรมโบสเป็นต้น ทำให้โสมมีรสหวาน สารประกอบสเตียรอยด์ในโสม เช่น สติกมาสเตอรอล เบต้าไซ-โทสเตอรอล สารไตรเตอร์พีนอยด์ เจนิน กรดโอลีเอนิก และซาโปนินกลัยโคไซด์ ส่วนสารตัวสำคัญที่พบในรากโสมคือ สาร saponin ซึ่งแบ่งเป็น 3กลุ่ม คือ กลุ่ม ginsenoside กลุ่ม panaxoside และกลุ่ม chikusetsusaponin
สารในโสมที่สำคัญที่สุดคือคือ ginsenoside ซึ่งจะมีในโสมประมาณ ร้อยละ1 -2 โดยน้ำหนัก ขึ้นกับชนิดของโสมแหล่งที่ปลูก รวมทั้งกระบวนการผลิตโสม ในปัจจุบันพบว่าโสมที่ขายในท้องตลาดบางชนิดแทบจะไม่มี ginsenoside เลยดังนั้นเมื่อหาซื้อโสมมาบำรุงร่างกายจึงควรดูปริมาณส่วนประกอบของโสมคือ ginsenoside เป็นสำคัญ หรือในปัจจุบันมักเรียกสารเหล่านี้รวมๆกันว่าสาร Adaptogens
ปัจจุบันนี้จากการวิจัยพบว่าโสมช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เช่นมีการทดลองใช้โสมกับผู้ป่วยโปลิโอ ปรากฏว่ากล้ามเนื้อมีแรงเพิ่มมากขึ้น ที่จริงนอกจากโสมจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้วสาร ginsenoside ยังมีผลต่อการตอบสนองของระบบประสาทส่วนกลางในหนูโดยผู้ทดลองให้หนูว่ายน้ำ ปีนเสา ไต่เชือก ฯลฯ แล้วพบว่าโสมสามารถกระตุ้นการเคลื่อนไหวของหนูให้มีสมรรถภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การทดลองใช้โสมในคน เช่นในทหารและผู้สูงอายุก็ได้ผลต่อทั้งร่างกาย สมองและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน เช่น เมื่อให้ผู้สูงอายุ 60 คน กลุ่มแรกกินโสมสกัด กลุ่มที่สองกินยาหลอก นาน 12 สัปดาห์ แล้วทดสอบสมรรถภาพทั้งร่างกาย อารมณ์และจิตใจ ปรากฏว่าโสมทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น หัวใจทำงานได้ดีขึ้น ความดันเลือดลดลง เมื่อตรวจสมรรถภาพร่างกายปรากฏว่าร่างกายแข็งแรงกว่า การตอบสนองของการควบคุมการใช้มือทั้งสองประสานกันได้ดีกว่า ความตื่นตัวตอบสนองต่อปฏิกิริยาต่างๆ ก็ดีกว่า อารมณ์ดีกว่า ความซึมเศร้าลดลง ความจำและสมาธิก็ดีกว่า รวมทั้งทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะโสมทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น และกระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาทและซีโรโตนินได้ดีกว่าเดิม รวมทั้งสารซาโปนินไตเตอร์พีนอยด์ในโสมจะไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนต้านความเครียดขึ้นมา
โสมมีผลต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้หัวใจแข็งแรง ทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากกว่าเดิม จึงรักษาได้ทั้งความดันเลือดสูงและความดันเลือดต่ำ และทั้งยังเพิ่มการแข็งตัวขององคชาติจึงเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ รวมทั้งเพิ่มจำนวนของเชื้ออสุจิด้วย
มีการศึกษาในรัสเซียซึ่งใช้โสมไซบีเรียรักษาอาการต่างๆในผู้ป่วยมะเร็งที่ให้ยาเคมีและการรักษาด้วยการฉายแสงปรากฏว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้โสมจะทนต่อการรักษาได้ดีกว่าถึงกว่า 50% รวมทั้งช่วยยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายให้อยู่ได้นานขึ้นด้วย
สรุปสรรพคุณของโสม จากการศึกษาวิจัยพบว่าโสมมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่สำคัญได้แก่
1) เพิ่มสมรรถนะในการทำงานของร่างกายให้สูงขึ้นเนื่องจากโสมมีสรรพคุณในการต้านความเมื่อยล้า (anti-fatigue effect) คือทำให้ร่างกายมีการปลดปล่อยพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขณะทำงานหรือออกกำลังกาย สารพลังงานพวก เอ.ที.พี และไกลโคเจนในกล้ามเนื้อถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว และเกิดการสะสมของกรดแลคติกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้า โสมจะช่วยให้ผนังเซลล์ดูดซึมออกซิเจนเพิ่มขึ้นถึง 21 % มีผลทำให้ขบวนการเผาผลาญภายในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจึงปลดปล่อยพลังงานได้มากขึ้น อัตราการเกิดกรด แลคติกจะลดน้อยลง และมีการสะสมพลังงาน เอ.ที.พี. และไกลโคเจนใหม่รวดเร็วขึ้น ดังนั้นเซลล์จึงสามารถสร้างพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นโสมยังช่วยปรับการเต้นของหัวใจให้กลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น ร่างกายจึงเหนื่อยช้าลง มีความอดทนต่อการทำงานมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสมรรถภาพการทำงานของร่างกายดีขึ้น และช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยในระหว่างพักฟื้นให้หายเป็นปกติได้เร็วขึ้น ทั้งนี้มีรายงานว่าโสมมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดด้วย
2) คุณสมบัติต่อต้านความเครียด (anti-stress effect) โดยจะช่วยปรับร่างกาย และจิตใจให้สามารถทนต่อความกดดันจากภายนอก โดยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน ACTH (adrenocorticotropic hormone) จากต่อมในสมอง ซึ่งฮอร์โมน ACTH จะเป็นตัวป้องกันและต่อต้านความเครียด โดยเร่งขบวนการเผาผลาญอาหารต่างๆเพื่อปลดปล่อยพลังงานออกมาต่อต้านความเครียด และช่วยคลายความวิตกกังวล
3) กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ginsenoside Rg มีคุณสมบัติกระตุ้นประสาทส่วนกลางให้ตื่นตัว แต่เป็นการออกฤทธิ์ที่แตกต่างจากยาจำพวกแอมเฟตามีน จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนต่อการนอนหลับตามปกติ ส่วน ginsenoside Rb และ ginsenoside Rc ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการระงับประสาท ดังนั้นโสมจึงมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยเป็นทั้งตัวช่วยให้ประสาทตื่นตัวและระงับประสาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพที่ร่างกายต้องการ มีผลให้รู้สึกมีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่า โดยไม่ทำให้เกิดการอ่อนเพลียหรืออ่อนล้าตามมา โดยพบว่าซาโปนินจากโสมเมื่อให้ในขนาดน้อยๆ จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง
4) เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย การทดลองในคนพบว่าโสมสกัดสามารถทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น นักวิจัยได้ทำการตรวจวิเคราะห์ปฏิกิริยาตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน ผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับโสมสกัดมีปฏิกิริยาตอบสนองของเม็ดเลือดขาวต่อสารเคมีสูงขึ้น มีอัตราการทำลาย จุลินทรีย์หรืออนุภาคแปลกปลอมต่างๆของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte ทั้งหมด และจำนวน ที - เซลล์ และ เอ็นเค -เซลล์ เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลทำให้ร่างกายสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อจุลินทรีย์และอนุภาคแปลกปลอมต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และสารเคมีต่างๆ ตลอดจนการต่อต้านโรคภูมิแพ้หรือโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดต่างๆได้ดี โดยมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบไม่เฉพาะเจาะจง
5) มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด โสมทำให้ต่อมในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันการเกิด อาการมึนชา ตามนิ้วมือ และการเกิดแผลเน่าเปื่อย นอกจากนี้ ginsenoside Rb และ ginsenoside Rc ยังออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน จึงช่วยลดขนาดการใช้อินซูลินจากภายนอกในการรักษาคนไข้โรคเบาหวานได้
6) ชะลอความแก่ เนื่องจากโสมมีฤทธิ์ทำลายอนุมูลอิสระที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ให้เสื่อมสลายลงก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นผลทำให้เกิด "ชราภาพ (aging)" โสมสามารถทำลายอนุมูลอิสระช่วยให้เนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง ประกอบกับคุณสมบัติเป็นตัวปรับสภาพให้ร่างกายและจิตใจ ซึ่งช่วยลดขบวนการของความแก่ ดังนั้นโสมจึงช่วยให้ชะลอความแก่ลงได้
7) ช่วยฟื้นฟูและเพิ่มศักยภาพของร่างกาย ในการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติของร่างกาย เช่น ไข้หวัด จากการศึกษาวิจัยที่พบว่าโสมสามารถต่อต้านโรค และอันตรายจากรังสีและสารที่เป็นพิษต่างๆอย่างได้ผลเช่น เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายอันเป็นการป้องกันโรคแทรกซ้อนบางชนิด ช่วยเร่งการสร้างเม็ดเลือดแดง ต่อต้านโรคเลือดจาง ผลในการเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายและผลในการต่อต้านความเครียดที่ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น จึงเป็นผลช่วยให้คนไข้ในระหว่างการพักฟื้นหายจากความเจ็บป่วยได้เร็ว
8) ช่วยป้องกันสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ การตัดโอกาสไม่ให้เชื้อโรคลามลงปอดได้ โสมมีสรรพคุณช่วยในเรื่องโรคปอดเรื้อรังชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือโรคถุงลมโป่งพอง (COPD)งานวิจัยของโสมที่ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง 92 คนแบ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ได้สารสกัดจากโสม วันละ 200 มก 49 คน และกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอกอีก 43 คน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับโสมมีสมรรถภาพทางปอดดีขึ้นอย่างมากในทุกด้าน โดยที่ไม่มีผลข้างเคียง แต่กลุ่มที่ได้รับยาปลอมไม่มีผลดีขึ้นแต่อย่างใด รวมทั้งช่วยกำจัดสารพิษและแอลกอฮอล์ที่อยู่ในกระแสเลือดได้เป็นอย่างดีจึงมีส่วนในการป้องกันการเกิดโรคตับอักเสบด้วย
9) ช่วยกำจัดโคเลสเตอรอล สารโปซานินในโสมมีส่วนช่วยในการกำจัดโคเลสเตอรอล ส่งผลให้ปริมาณโคเลสเตอรอลดีเพิ่มมากขึ้น ช่วยในการสลายลิ่มเลือด ลดไขมันในเลือด และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดเกาะตัว
10) ช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูก ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงได้ดีขึ้น
11) เสริมประสิทธิภาพทางเพศในชาย มีงานวิจัยในผู้ป่วยที่มีปัญหาองคชาติไม่แข็งตัว (Erectile dysfunction) 45 รายโดยรับประทานโสมเกาหลีปริมาณ 900 มก. 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลาสองเดือน พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแข็งตัวขององคชาติได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการประเมินอย่างละเอียดทุกด้าน โสมจึงช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
12) ลดและป้องกันมะเร็ง มีงานวิจัยของเกาหลีพบว่าการรับประทานโสมเกาหลีเป็นเวลานานสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งตับลงได้ด้วยการทำงานในด้านการต้านอัลฟาทอกซินบี และยูรีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยในมะเร็งตับ ในการวิจัยย้อนหลังซึ่งเป็นการวิจัยที่เหมาะสมในการหาความเสี่ยงและสารป้องกันการเกิดมะเร็งในคน พบว่าในคนที่ทานโสมมีอุบัติการณ์หรือมีโอกาสเป็นมะเร็งลดลงอย่างมาก มะเร็งที่มีโอกาสลดลงเมื่อทานโสมได้แก่ มะเร็งริมฝีปาก ช่องปากและคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ความปลอดภัย: โสมสกัดนั้นไม่มีผลร้ายใดหากรับประทานตามขนาดที่แนะนำ มีการศึกษาจำนวนมากได้ยืนยันถึงความปลอดภัยของโสมไม่มีความเป็นพิษและไม่มีปฏิกิริยากับยาอื่น อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำว่าหากต้องการให้ปลอดภัยที่สุดไม่ควรทานโสมกับยาแอสไพริน รวมถึงไม่ควรทานอย่างยิ่งในสตรีตั้งครรภ์และเด็ก ไม่ควรทานในคนที่ตับอักเสบคือมีเอนไซม์ของตับสูงแล้ว (ไวรัสตับอักเสบบีที่เป็นพาหะ ยังไม่มีเอนไซม์สูงจะทานได้) หรือตับอักเสบจนตัวเหลืองตาเหลืองหรือตับโต โสมควรทานร่วมกับใบแป๊ะก๊วย ซึ่งเป็นยาเย็นจะดีที่สุด
ผู้ที่ต้องการโสมหรือผู้ที่ควรได้รับประทานโสมได้แก่
1.ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ขาดกำลังวังชา
2. ผู้ที่ขาดความกระปรี้กระเปร่า
3. ผู้ที่ขาดสมรรถภาพทางร่างกาย
4. ผู้ที่ขาดสมรรถภาพทางจิตใจ
5. ผู้ที่มีความลำบากในการควบคุมสมาธิ
6. ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นสาเหตุของความเครียด
.jpg)
ข้อแนะนำขณะกินโสม: เพื่อให้ได้ผลสูงสุดเวลากินโสมจะต้องเลี่ยงอาหารบางอย่างได้แก่ ผลไม้ที่มีกรดสูงๆ น้ำผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรดเช่น น้ำส้มคั้น น้ำมะนาว และห้ามกินวิตามินซี ร่วมกับโสมเพราะจะไปทำลายฤทธิ์ที่ควรจะได้จากโสม